วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

แบดบินตัน

  แบดมินตัน

  ประวัติแบดมินตัน

          แบดมินตัน (Badminton) เป็นกีฬาที่ได้รับการวิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดถึงที่มาของกีฬาประเภทนี้ คงมีแต่หลักฐานบางอย่างที่ทำให้ทราบว่า กีฬาแบดมินตันมีเล่นกันในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ตอนปลายศตวรรษที่ 17 และจากภาพสีน้ำมันหลายภาพได้ยืนยันว่า กีฬาแบดมินตันเล่นกันอย่างแพร่หลายในพระราชวงศ์ของราชสำนักต่าง ๆ ในทวีปยุโรป แม้ว่าจะเรียกกันภายใต้ชื่ออื่นก็ตาม

          โดยกีฬาแบดมินตันได้รับการบันทึกแบบเป็นลายลักษณ์อักษรในปี พ.ศ. 2413 ซึ่งพบว่า มีการเล่นกีฬาลูกขนไก่เกิดขึ้นที่เมืองปูนา (Poona) ในประเทศอินเดีย เป็นเมืองเล็ก ๆ ห่างจากเมืองบอมเบย์ประมาณ 50 ไมล์ โดยได้รวมการเล่นสองอย่างเข้าด้วยกันคือ การเล่นปูนาของประเทศอินเดีย และการเล่นไม้ตีกับลูกขนไก่ (Battledore Shuttle Cock) ของยุโรป

          ในระยะแรก การเล่นแบดมินตันจะเล่นกันเพียงแต่ในหมู่นายทหารของกองทัพ และสมาชิกชนชั้นสูงของอินเดียเท่านั้น จนกระทั่งมีนายทหารอังกฤษที่ไปประจำการอยู่ที่เมืองปูนา นำการเล่นตีลูกขนไก่นี้กลับไปอังกฤษ และเล่นกันอย่างกว้างขวาง ณ คฤหาสน์แบดมินตัน (Badminton House) ของดยุคแห่งบิวฟอร์ด ที่กลอสเตอร์เชียร์ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2416 เกมกีฬาตีลูกขนไก่เลยถูกเรียกว่า แบดมินตัน ตามชื่อคฤหาสน์ของดยุคแห่งบิวฟอร์ดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ทั้งนี้ กีฬาแบดมินตันก็เริ่มแพร่หลายในประเทศแถบภาคพื้นยุโรป เนื่องจากเป็นเกมที่คล้ายเทนนิส แต่สามารถเล่นได้ภายในตัวตึก โดยไม่ต้องกังวลต่อลมหรือหิมะในฤดูหนาว นอกจากนี้ ชาวยุโรปที่อพยพไปสู่ทวีปอเมริกา ยังได้นำกีฬาแบดมินตันไปเผยแพร่ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและออสเตรเลียที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ต่างนำเกมแบดมินตันไปเล่นยังประเทศของตนเองอย่างแพร่หลาย เกมกีฬาแบดมินตันจึงกระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

          สำหรับการเล่นแบดมินตันในระยะแรกไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว เพียงแต่เป็นการตีโต้ลูกกันไปมาไม่ให้ลูกตกพื้นเท่านั้น ส่วนเส้นแบ่งแดนก็ใช้ตาข่ายผูกโยงระหว่างต้นไม้สองต้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องต่ำสูง เล่นกันข้างละไม่น้อยกว่า 4 คน ส่วนมาจะเล่นทีมละ 6 ถึง 9 คน ผู้เล่นสามารถแต่งตัวได้ตามสบาย

          จนกระทั่งปี พ.ศ.2436 ได้มีการจัดตั้งสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศอังกฤษขึ้น ซึ่งนับเป็นสมาคมแบดมินตันแห่งแรกของโลก หลังจากที่มีการจัดแข่งขันแบดมินตันชิงชนะเลิศแห่งประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า ออลอิงแลนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ทางสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศอังกฤษจึงได้ตั้งกฎเกณฑ์ของสนามมาตรฐานขึ้นคือ ขนาดกว้าง 22 ฟุต ยาว 45 ฟุต (22 x 45) เป็นสนามขนาดมาตรฐานประเภทคู่ที่ใช้ในปัจจุบัน จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดัดแปลงในเรื่องอุปกรณการเล่นให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก โดยประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่มีการเล่นกีฬาแบดมินตันและได้รับความนิยมสูงสุดคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย

          ส่วนการแข่งขันระหว่างประเทศได้เริ่มจัดให้มีขึ้นในปี พ.ศ. 2445 และตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จำนวนประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาแบดมินตันระหว่างประเทศมีมากว่า 31 ประเทศ แบดมินตันได้กลายเป็นเกมกีฬาที่เล่นกันระหว่างชาติ โดยมีการยกทีมข้ามประเทศเพื่อแข่งขันระหว่างชาติในทวีปยุโรป ในปี พ.ศ.2468 กลุ่มนักกีฬาของประเทศอังกฤษได้แข่งขันกับกลุ่มนักกีฬาประเทศแคนาดา ห้าปีหลังจากนั้นพบว่าประเทศแคนาดามีสโมสรสำหรับฝึกแบดมินตันมาตรฐานแทบทุกเมือง

          ในปี พ.ศ.2477 สมาคมแบดมินตันของประเทศอังกฤษเป็นผู้นำในการก่อตั้งสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ โดยมีชาติต่าง ๆ อีก 8 ชาติคือ แคนาดา เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สก๊อตแลนด์ และเวลล์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอน ปัจจุบันมีประเทศที่อยู่ในเครือสมาชิกกว่า 60 ประเทศ ที่ขึ้นต่อสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ (I.B.F.) สหพันธ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนด และควบคุมกติการะเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของการแข่งขันกีฬาแบดมินตันทั่วโลก

          ในปี พ.ศ.2482 เซอร์ จอร์จ โทมัส นักแบดมินตันอาวุโสชาวอังกฤษเป็นผู้มอบถ้วยทองราคา 5,000 ปอนด์ เพื่อมอบเป็นรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศประเภทชาย ในการแข่งขันแบดมินตันระหว่างประเทศ ซึ่งสหพันธ์แบดมินตันได้รับไว้และดำเนินการตามประสงค์นี้ แม้ว่าตามทางการจะเรียกว่า การแข่งขันชิงถ้วยชนะเลิศแบดมินตันระหว่างประเทศ แต่นิยมเรียกกันว่า โธมัสคัพ (Thomas Cup) การแข่งขันจะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี โดยสหพันธ์ได้แบ่งเขตการแข่งขันของชาติสมาชิกออกเป็น 4 โซน คือ

1. โซนยุโรป
2. โซนอเมริกา
3. โซนเอเชีย
4. โซนออสเตรเลเซีย (เดิมเรียกว่าโซนออสเตรเลีย)

          วิธีการแข่งขันจะแข่งขันชิงชนะเลิศภายในแต่ละโซนขึ้นก่อน แล้วให้ผู้ชนะเลิศแต่ละโซนไปแข่งขันรอบอินเตอร์โซนเพื่อให้ผู้ชนะเลิศทั้ง 4 โซน ไปแข่งขันชิงชนะเลิศกับทีมของชาติที่ครอบครองดถ้วยโธมัสคัพอยู่ ซึ่งได้รับเกียรติไม่ต้องแข่งขันในรอบแรกและรอบอินเตอร์โซน ชุดที่เข้าแข่งขันประกอบด้วยผู้เล่นอย่างน้อย 4 คน การที่จะชนะเลิศนั้นจะตัดสินโดยการรวมผลการแข่งขันของประเภทชายเดี่ยว 5 คู่ และประเภทชายคู่ 4 คู่ รวม 9 คู่ และใช้เวลาการแข่งขัน 2 วัน การแข่งขันชิงถ้วยโธมัสคัพครั้งแรกจัดให้มีขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2491-2492

          ต่อมาในการแข่งขันแบดมินตันโธมัสคัพ ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2512-2513 สหพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการแข่งขันเล็กน้อย โดยให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นเข้าร่วมแข่งขันในรอบอินเตอร์โซนด้วย โดยวิธีการจับสลากแล้วแบ่งออกเป็น 2 สาย ผู้ชนะเลิศแต่ละสายจะได้เข้าแข่งขันชิงชนะเลิศโธมัสคัพรอบสุดท้ายต่อไป สาเหตุที่สหพันธ์เปลี่ยนแปลงการแข่งขันใหม่นี้ เนื่องจากมีบางประเทศที่ชนะเลิศได้ครอบครองถ้วยโธมัสคัพไม่รักษาเกียรติที่ได้รับจากสหพันธ์ไว้ โดยพยายามใช้ชั้นเชิงที่ไม่ขาวสะอาดรักษาถ้วยโธมัสคัพไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า สหพันธ์จึงต้องเปลี่ยนข้อบังคับให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นลงแข่งขันในรอบอินเตอร์โซนดังกล่าวด้วย

          กีฬาแบดมินตันได้แพร่หลายขึ้น แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศสังคมนิยมก็ได้มีการเล่นเบดมินตันอย่างกว้างขวาง มีการบรรจุแบดมินตันเข้าไว้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ การแข่งขันกีฬาของประเทศในเครือจักภพสหราชอาณาจักร รวมทั้งการพิจารณาแบดมินตันเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันว่า แบดมินตันได้กลายเป็นกีฬาสากลแล้วอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น